จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บอกเล่าเก้าสิบ


“สิ่งดีดีมีไว้เพื่อแบ่งปัน และหนึ่งกำลังใจมอบให้กับสิ่งดีดีที่คุณทำ”

วันจันทร์ที่ ๘ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
                วันดีๆ เริ่มต้นด้วยสิ่งดีๆ งามๆ ด้วยใจที่เบิกบาน  เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ   และได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปพบปะกับคณะครู วิทยากร และเด็กๆ ในการเข้าค่าย “พลังรัก พลังใจ เพื่อน้อง”  ค่ายพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ณ มหาวิทยาลัยพะเยาวิทยาเขตเชียงราย  ซึ่งเป็นความร่วมมือรวมพลังทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชียงรายเขต ๑,  สำนักเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓๖, ศูนย์ส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคล ออทิสติกจังหวัดเชียงราย, สมาคมสร้างสรรค์อนาคตเด็กและเยาวชน และศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือรวมพลังช่วยกันพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่มาจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ให้มีโอกาสได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละคน  และคุณครูที่รับผิดชอบดูแลเด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization - LO) คือ การที่บุคลากรในองค์กรมาร่วมกันเรียนรู้หรือเรียนรู้ร่วมกัน จากความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติงานจริง โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อการพัฒนาคุณภาพคนและคุณภาพงาน คุณลักษณะของบุคคลที่เอื้อต่อองค์กรแห่งการเรียนรู้ คือ
๑)    เป็นคนรักการเรียนรู้
๒)   เป็นคนยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น
๓)   เป็นคนมองโลกในแง่ดี
๔)   เป็นคนรักในการทำงานเป็นทีม
๕)    เป็นคนที่มีความคิดในการทำงานเชิงระบบ (Systematic Thinking) คือ คิดเป็นเหตุเป็นผล (Cause – Effect Approach) คิดเป็นกระบวนการ (Process Approach) และคิดแก้ปัญหาเป็นระบบ (System Approachหรือวงจร Deming’s
                จากการที่คณะวิทยากรและคุณครูที่ได้เข้ามาอยู่ในค่าย “พลังรัก พลังใจ เพื่อน้อง” ครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จึงเกิดเป็นชุมชนแห่งผู้รู้จริง ปฏิบัติจริง (Community of Practice -COP) ซึ่งนำไปสู่กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management–KM) และการสร้างนวัตกรรม (Innovation) สำหรับพัฒนาศักยภาพของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
                ดังนั้น การเข้าค่ายครั้งนี้ จึงเป็นการริเริ่ม สร้างสรรค์ พัฒนา แนวทางกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดประโยชน์อย่างมาก ภายใต้ความร่วมมือและความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีใครมีใครจะให้ความสำคัญ และทำสำคัญที่สุดคือคุณครูมีคุณธรรม คือความรักความเมตตา ความปรารถนาดีที่มีให้เด็กเหล่านี้ เป็นการให้ที่สร้างกุศลให้แก่ชีวิตอย่างมากมาย
                การดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องอาศัยความรักและความเข้าใจ ซึ่งนายแพทย์ทวีศักดิ์  สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้เขียนบทความลงในเวบไซต์ ศูนย์วิชการ แฮปปี้โฮม : www.happyhomeclinic.com/academy.html “เด็กพิเศษ ดูแลด้วยความรัก พัฒนาด้วยความเข้าใจ”
                เด็กพิเศษ หรือเรียกเต็มๆ ว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ คือกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถพัฒนาความสามารถได้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ด้วยวิธีการปกติตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูตามปกติ หรือการเรียนการสอนตามปกติทั่วไป เนื่องจากข้อจำกัดบางประการที่มีอยู่ในตัวเด็ก ทางด้านร่างกาย สติปัญญา พฤติกรรม อารมณ์ หรือสัมพันธภาพทางสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีวิธีการพิเศษ เพิ่มเติมจากการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กมีศักยภาพเต็มตามที่มีอยู่ได้
                มีหลายมุมมองทางความคิดเกี่ยวกับแนวทางการดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งไม่มีผิด ไม่มีถูก เพียงแต่ต้องมีการทบทวนความคิดอย่างเข้าใจ และพัฒนามุมมองของเราเองให้ถูกต้องตามที่เห็นว่าควรเป็น
                บางคนมองว่า อย่าไปบังคับเด็กเลย สงสารเด็ก
                บางคนก็มองว่า ทำไมไม่ฝึกเด็กล่ะ เดี๋ยวก็ทำอะไรไม่เป็นหรอก
                บางคนก็มองว่า เด็กก็ทำได้แค่นี้ จะไปเอาอะไรมากมาย
                บางคนก็มองว่า เดี๋ยวโตขึ้นก็ดีเอง อย่าไปกังวลเกินเหตุ
                บางคนก็มองว่าต้องทุ่มเทฝึกกระตุ้นเด็กให้เต็มที่เท่าที่มีแรงทำ
                แนวทางการดูแลเด็กพิเศษ ไม่ว่าจะไปในทิศทางใดก็ตาม ถ้าเริ่มต้นจากการดูแลด้วยความรัก แล้วค่อยๆ พัฒนาด้วยความเข้าใจ ก็จะไปสู่จุดหมายปลายทางของการทำให้เด็กมีการพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ไม่ยาก
                การดูแลด้วยความรัก ก็คือสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนมีอยู่เต็มเปี่ยมอยู่แล้ว แต่ที่นำมาเน้นย้ำ เนื่องจากในความรักที่มีอยู่นี้ มักจะถูกบดบังด้วยความเครียด ความวิตกกังวล ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ และความรู้สึกอื่นๆ อีกมากมายในบางช่วงเวลา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมาได้ในการดูแล แต่จำเป็นต้องหาวิธีจัดการความรู้สึกต่างๆ อย่างเหมาะสมต่อไป
                สำหรับการพัฒนาด้วยความเข้าใจ ก็เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจาก ขึ้นชื่อว่าเด็กพิเศษแล้วต้องมีกระบวนการพัฒนาที่พิเศษ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ หลักเบื้องต้นง่ายๆ ในการพัฒนา คือ
เด็กเป็นตัวตั้ง ครอบครัวเป็นตัวหาร ผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวช่วย
                เด็กเป็นตัวตั้งกล่าวคือ ไม่มีสูตรสำเร็จรูปสำหรับการดูแลเด็กพิเศษทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกอายุ ควรเข้าใจธรรมชาติที่ว่า เด็กแต่ละคนมีความเหมือนกัน และมีความแตกต่างกัน เด็กอาจมีความบกพร่องในบางด้าน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในบางด้านเช่นกัน การมองแต่ความบกพร่องบางด้าน และคอยแก้ไขความบกพร่องไปเรื่อยๆ ก็อาจถึงทางตันในที่สุด ควรหันกลับมามองในด้านความสามารถของเด็กด้วยว่าเด็กมีความสามารถด้านใดบ้าง เพื่อวางแผนการดูแล ให้การส่งเสริมความสามารถที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสามารถช่วยชดเชยความบกพร่องที่มีอยู่ได้
                ดังนั้นการดูแลต้องวางแผนให้สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กมี และสิ่งที่เด็กเป็น โดยวางแผนเฉพาะรายบุคคล ให้มีความเหมาะสมตามวัย และตามพัฒนาการของเด็ก
                ครอบครัวเป็นตัวหารกล่าวคือ ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในการดูแลเด็กพิเศษ และคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ถ้าครอบครัวไม่ดูแล แล้วจะมีใครดูแลได้ดีกว่าอีกเล่า
                แต่ในการดูแลนั้น การมีความรักอยู่เต็มเปี่ยม อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าขาดความเข้าใจ การมีความรู้ มีเจตคติที่ถูกต้อง และมีทักษะ พัฒนาเทคนิควิธีให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ควรมีทั้งครอบครัว ต้องเน้นคำว่า ครอบครัว เพราะว่าไม่มีใครเก่งคนเดียว ต้องให้ความไว้วางใจกัน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ครอบครัวเข้มแข็งคือพลังแห่งความสำเร็จ
                ปัญหาที่มักเกิดขึ้นบ่อย คือ มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนเกินไป แม่ดูแลเด็กอย่างทุ่มเท ในขณะที่พ่อพยายามทำงานหนักขึ้น เพื่อจุนเจือครอบครัว ในที่สุดก็เกิดช่องว่าง พ่อก็เริ่มไม่มีทักษะการดูแลเด็ก แม่ก็ไม่ไว้ใจให้พ่อดูแล ช่องว่างก็มากขึ้น จนเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในที่สุด
                การเริ่มต้นและพัฒนาที่ดี คือการสุมหัวเข้าหากัน คุยกัน ไว้วางใจกัน และหารความรัก ให้ทุกคนในครอบครัวมีโอกาสช่วยเหลือเด็กเท่าๆ กัน
                ผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวช่วยณ วันนี้ ความก้าวหน้าทางวิชาการมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลใหม่ๆ มีเพิ่มเติมตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ที่คนเดียวจะรู้ทุกอย่าง มีทักษะทุกด้าน ตัวช่วยจึงมีความจำเป็น
                ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย จิตแพทย์เด็ก พยาบาล นักจิตวิทยา นักแก้ไขการพูด นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด ครูการศึกษาพิเศษ หรือวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นตัวช่วยที่สามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษา และสาธิตเทคนิควิธีต่างๆ ให้นำไปฝึกปฏิบัติต่อไปได้
                แต่ต้องไม่ลืมว่า ผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น ไม่ใช่ตัวหลักอย่างเช่นครอบครัว ฉะนั้นถ้าบทบาทผิดเพี้ยนไปจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญกลายเป็นตัวหลักขึ้นมา จะทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่มีอยู่จริง เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เชี่ยวชาญจะรู้จัก และเข้าใจเด็กได้ดีกว่าครอบครัวที่อยู่กับเด็กตลอด
                เมื่อมองจุดสุดท้ายที่เด็กพิเศษควรจะเป็น คือ พัฒนาเต็มตามศักยภาพที่เขามีอยู่ ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้น ณ วันนี้ ก็ไม่เป็นไร เพราะวันหนึ่งต้องไปถึงแน่นอน ถ้ายังมีการดูแลด้วยความรักและพัฒนาด้วยความเข้าใจ โดยยึดหลัก
เด็กเป็นตัวตั้ง ครอบครัวเป็นตัวหาร ผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวช่วย
                จุดหมายปลายทางเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง แต่ระหว่างทางที่ไปสู่จุดหมายนั้น มีสิ่งสวยงามให้ชื่นชมมากมาย พัฒนาการของเด็กพิเศษแต่ละขั้น ก็คือสิ่งสวยงามที่น่าชื่นชม การชื่นชมสิ่งสวยงามที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ คือ กำลังใจที่ดีที่สุด
“ความรู้ยิ่งให้ยิ่งเพิ่มพูน ขอขอบคุณเครือข่ายทุกเครือข่ายที่แบ่งปันความรู้ติดอาวุธทางปัญญา”

วิวรรธนพงศ์  สมจิตร

 ....................................................................................................
ที่มา  ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. เด็กพิเศษ ดูแลด้วยความรัก พัฒนาด้วยความเข้าใจ. http://www.happyhomeclinic.com/a04-specialchildcare.htm
         : Glossary คำจำกัดความศัพท์ในมาตรฐานระบบ QA.    http://www.kmdrugsabuse.in.th/km/home/glossary.aspx






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น